วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555

ประวัติและความสำคัญของพระพุทธศาสนา


๑.๑ ประวัติและความสำคัญของพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนาเป็นศาสตร์แห่งการศึกษา
คำว่า “การศึกษา” มาจากคำว่า “สิกขา” โดยทั่วไปหมายถึง “กระบวนการเรียน “ “การฝึกอบรม” “การค้นคว้า” “การพัฒนาการ” และ “การรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งทั้งปวง” จะเห็นได้ว่า การศึกษาในพระพุทธศาสนามีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับต่ำสุดถึงระดับสูงสุด เมื่อ
แบ่งระดับอย่างกว้าง ๆ มี 2 ประการคือ

1. การศึกษาระดับโลกิยะ มีความมุ่งหมายเพื่อดำรงชีวิตในทางโลก
2. การศึกษาระดับโลกุตระ มีความมุ่งหมายเพื่อดำรงชีวิตเหนือกระแสโลก
คำศัพท์พระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา
ศัพท์ที่เป็นชื่อบุคคลทางพระพุทธศาสนา ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษา สามารถพิจารณาได้ดังนี้คือ
1. คำว่า “โพธิสัตว์” แปลว่า ผู้ผูกพันอยู่กับความรู้ หมายถึงผู้แสวงหาความรู้ ผู้ฝึกฝนตนเองเพื่อเข้าถึงความรู้ ผู้ค้นหาความรู้ที่ถูกต้อง ผู้กำลังพัฒนาตนเพื่อเข้าถึงความรู้ที่สูงที่สุดหรือผู้ดำเนินชีวิตเพื่อได้ตรัสรู้ ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า พุทธศาสนาเกี่ยวข้องกับการศึกษาตั้งแต่พระโพธิสัตว์เริ่มสร้างบารมีเพื่อตรัสรู้
 2. คำว่า “พุทธะ” แปลว่า “ผู้รู้” เมื่อเป็นชื่อของศาสนาว่า “พุทธศาสนา” จึงแปลว่าศาสนาผู้รู้ ทางพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงพุทธะไว้ 3 ประเภท คือ
1) สัมมาสัมพุทธะ หมายถึง ผู้ตรัสรู้โดยถูกต้องด้วยตนเอง อยู่ในฐานะเป็นศาสดาเอกของโลก มีคุณสมบัติเพียบพร้อมในการก่อตั้งพระพุทธศาสนา
2) ปัจเจกพุทธะ หมายถึง ผู้รู้เฉพาะตน ไม่อยู่ในฐานะเป็นศาสดาผู้ก่อตั้งศาสนา
3) อนุพุทธะ หรือสาวกพุทธะ คือ ผู้รู้ตาม หมายถึง ผู้ได้ฟังคำสอนของพระศาสดา แล้วนำมาปฏิบัติ
คำว่า “สาวก สาวิกา” แปลว่า ผู้ฟังหรือผู้ศึกษา สาวก หมายถึง ผู้ศึกษาฝ่ายชาย สาวิกา หมายถึงผู้ศึกษาฝ่ายหญิง โดยไม่จำกัดว่าเป็นนักบวชหรือเป็นคฤหัสถ์ แสดงว่า พระพุทธศาสนาเปิดโอกาสให้การศึกษาทั้งสองฝ่ายเสมอภาคกัน ไม่ได้เลือกว่าจะให้สำหรับนักบวชเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้คฤหัสถ์อีกด้วย

3. คำว่า “สิกขา” ในภาษาสันสกฤตเขียนเป็น “ศึกษา” มีความหมายครอบคลุมพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติทางศีล สมาธิ หรือปัญญา อยู่ในขอบข่ายของคำว่า “สิกขา” ทั้งสิ้น ในการรับกุลบุตรเข้าบวชเป็นภิกษุ พระอุปัชฌาย์อาจารย์สอนในเชิงปฐมนิเทศครั้งแรก จบลงด้วยคำว่า “พึงศึกษา”

4. คำว่า “สิปปะ พาหุสัจจะ” สิปปะ คือ ศิลปะ พาหุสัจจะ คือ การได้ศึกษามากในวิชาหลายด้าน

5.คำว่า“จักษุปัญญาวิชาญาณอาโลกะ”คำเหล่านี้หมายถึงความรู้ทั้งสิ้นปัญญานั้นมีขอบเขตหมายถึงความรู้ได้ทุกระดับที่เป็นพื้นฐานของปัญญาเมื่อพระพุทธศาสนาเป็นกระบวนการแห่งความรู้ย่อมเป็นการแน่นอนว่าพระพุทธศาสนาได้กล่าวสรรเสริญความรู้ไว้มากมาย เป็นต้นว่า “แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี” เป็นการยืนยันว่า บรรดาแสงสว่างที่มีอยู่ในโลกนี้ไม่มีแสงสว่างใดเท่าเทียมกับปัญญาได้

“การได้ความรู้เป็นเหตุให้เกิดสุข” เป็นข้อความยืนยันว่า ความสุขที่มนุษย์ได้รับมานั้นได้มาจากความรู้โดยตรง
“บุคคลบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา” ข้อนี้คือการยืนยันว่า ความบริสุทธิ์เกิดจากศิลปะของการใช้ปัญญาประการหนึ่ง
หลักการเรียนรู้

หลักการศึกษาทางพระพุทธศาสนา ควบคู่กับการปฏิบัติด้วยเสมอ ผู้ที่เอาแต่เรียนอย่างเดียว โดยไม่ปรับปรุงตนให้ดีขึ้นในภาคปฏิบัติ พุทธศาสนาเรียกว่า “คนตำราเปล่า คนคัมภีร์เปล่า” ในปัจจุบันน่าจะเรียกว่า “คนปริญญาเปล่า” และกล่าวเปรียบเทียบว่า “เหมือนทัพพีไม่รู้รสแกง” “เหมือนคนรับจ้างเลี้ยงโค” (ได้รับแต่ค่าจ้าง แต่ไม่ได้ดื่มนมโค) มีค่าเท่ากับไม่ได้ศึกษาอย่างแท้จริงพระพุทธศาสนากำหนดองค์ประกอบของการศึกษาพระพุทธศาสนาออกเป็น 3 ประการคือ
1. ปริยัติ ได้แก่ การศึกษาเล่าเรียน
2. ปฏิบัติ ได้แก่ การนำเอาหลักการ ทฤษฎี แนวคิดจากการศึกษาเล่าเรียนมาประยุกต์ใช้ให้เป็นแนวปฏิบัติในวิถีชีวิตของตน
3. ปฏิเวธ ได้แก่ ผลของการปฏิบัติ เช่นได้รับความสุขในชีวิต ประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นต้น

การศึกษาตามองค์ประกอบทั้ง 3 แล้ว ยังต้องมีส่วนประกอบอื่น ๆ ที่สำคัญของการศึกษาอีกหลายประการคือ
1. การมีความรู้ความเข้าใจในสภาวะของสิ่งทั้งหลาย ตามความเป็นจริง เพื่อประโยชน์ในการปรับตัวในสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้อง ว่าสิ่งใดควรปรับ ควรปรับอย่างไร ที่ไหน เป็นต้น
2.การปรับตัวเพื่อเพิ่มพูนความสามารถในการดำรงอยู่โดย
2.1พัฒนาองค์ประกอบภายในทางด้านร่างกายให้มีความสามารถและความพร้อมในการดำรงอยู่ด้วยดี เช่น ให้เจริญเติบโตแข็งแรง มีสุขภาพดี เป็นต้น
2.2 พัฒนาองค์ประกอบภายในทางด้านจิตใจให้แข็งกล้าสามารถยิ่งขึ้น เช่น มีสติปัญญามากขึ้น มีคุณธรรมอื่น ๆ เช่น เมตตา กรุณา สูงขึ้น เป็นต้น

3. การรู้จักเกี่ยวข้องสัมพันธ์ตลอดจนปรับสิ่งแวดล้อมให้เป็นประโยชน์แก่ตน โดย
3.1 รู้จักเลือกเกี่ยวข้องและถือประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่
3.2 ไม่ทำลายหรือทำตนให้เป็นอันตรายแก่สิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลแก่ชีวิต
3.3 ทำตนให้เกื้อกูลแก่สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ตนเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่ง ซึ่งร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี อันเป็นประโยชน์ร่วมกัน
3.4 รู้จักจัดสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ และสร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ที่อำนวยประโยชน์แก่ชีวิตถ้าพิจารณาการศึกษาในความหมายของ “การพัฒนา”


การพัฒนาด้านต่าง ๆ รวมอยู่ในขอบเขตของไตรสิกขาทั้งสิ้น และหลักไตรสิกขานั้นก็คือหลักการพัฒนากล่าวคือ

1. ศีล คือการพัฒนาทางด้านพฤติกรรม
2. สมาธิ คือการพัฒนาทางด้านสภาพจิตใจ
3. ปัญญา คือการพัฒนาทางด้านวุฒิภาวะทางปัญญา และการมีทัศนะที่ถูกต้องการพัฒนาทางด้านพฤติกรรมเป็นบ่อเกิดของการดำเนินชีวิตที่สะอาดในสังคม การพัฒนาทางด้านสภาพจิตใจเป็นบ่อเกิดของสุขภาพจิตที่ดีที่เหมาะสม การพัฒนาทางปัญญา เป็นบ่อเกิดความรู้ความสามารถการมีความรู้ที่ถูกต้อง และการมีทัศนะที่ไม่เป็นอันตราย

วิธีการเรียนรู้ทั่วไป พระพุทธเจ้าตรัสไว้ 5 ประการ คือ

1. การฟัง หมายถึงการตั้งใจศึกษาเล่าเรียนในห้องเรียน
2. การจำได้ หมายถึงการใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อให้จำได้
3. การสาธยาย หมายถึงการท่อง การทบทวนความจำบ่อย ๆ
4. การเพ่งพินิจด้วยใจ หมายถึงการตั้งใจจินตนาการถึงความรู้นั้นไว้เสมอ
5. การแทงทะลุด้วยความเห็น หมายถึงการเข้าถึงความรู้อย่างถูกต้อง เป็นความรู้อย่างแท้จริง ไม่ใช่ติดอยู่แต่เพียงความจำเท่านั้น แต่เป็นความรู้ความจำที่สามารถนำมาประพฤติปฏิบัติได้


อุปสรรคของการเรียนรู้

นอกจากพระพุทธเจ้าทรงชี้แนะวิธีการเรียนรู้ในลักษณะต่าง ๆ แล้ว ยังได้ทรงแสดงถึง อุปสรรคของการเรียนรู้ อีก 7 ประการคือ

1. การชอบทำการงานมากกว่าการเรียน
2. การชอบคุยมากกว่าการเรียน
3. การชอบหลับมากกว่าการเรียน
4. การชอบไปหาเพื่อนฝูงมากกว่าการเรียน
5. การปล่อยตนให้เป็นคนฟุ้งซ่าน
6. การเห็นแก่บริโภคมากกว่าการเรียน
7. การไม่สำรวมตนว่าอะไรเรียนแล้ว อะไรยังไม่ได้เรียนอีกประการหนึ่ง พระพุทธเจ้ายังได้ทรงแสดง
สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อประสิทธิภาพอันดีงามของศิลปวิชาการได้ด้วยประมวลกล่าวเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้
1. การขาดศีลธรรม ขาดจริยธรรมในภาคปฏิบัติ เป็นเหตุให้ใช้ศิลปวิทยาการ ที่ศึกษาทำลายความเป็นคนดีของผู้นั้น และการใช้ศิลปวิทยาการนั้นก่อให้เกิดโทษแก่ผู้อื่น
2. การได้รับการศึกษามากที่ขาดจริยธรรม แม้จะได้รับการสรรเสริญว่าเป็นคนมีความรู้ดี ก็ถูกตำหนิว่าเป็นคนประพฤติไม่ดี
การศึกษาตามแนวพุทธวิถี

การศึกษาตามแนวพุทธวิถี คือ การศึกษาที่มุ่งให้บุคคลนั้นต้องได้รับการนำทางเข้าไปสู่ความเจริญหรือความรู้ความสามารถที่จะเจริญในทุก ๆ ด้าน คือเจริญทางกาย ทางสมอง และทางจิตใจ พระพุทธเจ้ากล่าวเป็นนัยว่า การที่มนุษย์จะต้องเป็นที่พึ่งของตนเองได้บุคคลจะต้องเป็นผู้เจริญในทางใจ วาจา และการกระทำ
ลักธรรมพื้นฐานของพระพุทธศาสนาในฐานะเป็นศาสตร์การศึกษา

หลักพุทธธรรมที่จะนำมาเป็นหลักในการประยุกต์ใช้กับการจัดการศึกษาแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ

1.หลักพุทธธรรมที่เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาปัญหา ครอบคลุมทั้งระบบอย่างเป็นกระบวนการ หลักพุทธธรรมนี้จะใช้เป็นเครื่องมือตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการทางการศึกษาที่ดำเนินไปในทุกขั้นตอนหลักพุทธธรรมกลุ่มนี้คืออริยสัจ4 และปฏิจจสมุปบาท

2. หลักพุทธธรรมเชิงปฏิบัติการ เสริมในรายละเอียด เมื่อตรวจสอบพบจุดบกพร่องของกระบวนการศึกษา หรือกระบวนการเรียนการสอนนั้น การนำหลักพุทธธรรมนี้ไปใช้ก็ทำได้สองอย่างคือ ในฐานะทบทวนแผน (Re-planning) ตามความเป็นจริงที่ปรากฏออกมาจากการตรวจสอบด้วยหลักอริยสัจ4 และปฏิจจสมุปบาท

ในเรื่องของการศึกษา หรือกระบวนการเรียนการสอนอันถือว่าเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ ก็ควรจะดำเนินไปโดยใช้อริยสัจ 4และปฏิจจสมุปบาทมาเป็นหลักการขั้นพื้นฐานที่สำคัญ แล้วนำเอาเรื่องอื่นมาเป็นบริวารหลักสำคัญที่จะต้องตระหนักไว้เสมอก็คือการใช้หลักอริยสัจและปฏิจจสมุปบาท มาเป็นหลักในการแก้ปัญหา หรือดำเนินการในเรื่องราวใด ๆ นั้น ต้องตรวจสอบเรื่องนั้น ๆ ทั้งระบบ เพื่อให้พบความจริง ไม่มองเฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง แต่ตรวจสอบเพื่อค้นหาความจริงแล้วแก้ปัญหาตามเหตุปัจจัยที่ปรากฏ บางเรื่องอาจแก้ทั้งหมด บางเรื่องอาจจะแก้เพียงจุดใดจุดหนึ่งก็เพียงพอ
เมื่อเรานำหลักการพุทธธรรมมาใช้ในด้านการเรียนการสอนเราจะมองเฉพาะจุดเล็ก ๆ จุดเดียว ก็จะไม่ครอบคลุมประเด็นในทุก ๆ ด้าน ต้องทำความเข้าใจ เริ่มตั้งแต่หลักสูตร อาคารสถานที่ ครูอาจารย์ บรรยากาศ อุปกรณ์ วัสดุครุภัณฑ์ขวัญกำลังใจ หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่มีอยู่ ต้องนำมาพิจารณาให้หมด ตรงจุดไหนที่เห็นว่าดีอยู่แล้วก็รักษาไว้ แต่ส่วนที่บกพร่องก็ปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น การใช้หลักการนี้มาพัฒนา ผลออกมาจะมีความเจริญก้าวหน้าไปพร้อม ๆ กัน และความจริงที่ถูกต้องก็คือ ทางสายกลางที่มีความสมดุลในทุกขั้นตอน

คุณธรรมที่เป็นศาสตร์แห่งการศึกษา
คุณธรรมที่เป็นศาสตร์แห่งการศึกษามีดังนี้

ปัญญา


 ปัญญาและกระบวนการอันนำไปสู่การเกิดปัญญา คือความรอบรู้ทั้งตนเอง วิชาการต่าง ๆ สิ่งแวดล้อม สังคม และความเป็นไปของโลกอย่างชัดเจน นับเป็นจุดหมายปลายทางของกระบวนการเรียนการสอนทุกวิชาในทางพระพุทธศาสนาได้แบ่งปัญญาออกเป็นสามประเภทคือสุชาติปัญญา ปัญญาติดตัวมาตั้งแต่เกิด (พันธุกรรม) นิปากปัญญา ความรู้ในด้านอาชีพ และวิปัสสนาปัญญา เป็นความรู้แจ้ง รู้จริง รู้ถูกต้องและกระบวนการที่ก่อให้เกิดปัญญา คือ ปัญญาเกิดจากการฟัง (สุตมยปัญญา) เกิดจากการคิด (จินตมยปัญญา)เกิดจากการอบรมตนเอง (ภาวนามยปัญญา)

อริยมรรค 8

ริยมรรค 8 เป็นแกนกลางในการจัดการศึกษาของทุก ๆ วิชา เพราะหลักการของอริยมรรค อยู่ที่ สัมมา คือ ความถูกต้องชอบธรรม ในลีลาชีวิตของมนุษย์ทุกชาติทุกเผ่าพันธุ์ ล้วนดำเนินไปในกรอบแห่งอริยมรรคทั้งสิ้น หากลีลาเหล่านั้นดำเนินไปผิดทาง ชีวิตก็ต้องรับผลแห่งความผิดนั้นอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีทางหลีกเลี่ยง แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าได้ใช้ลีลาชีวิตให้ถูกต้องในทุกขั้นตอนผลออกมาเป็นความไร้ทุกข์ อย่างยุติธรรม ไม่มีใครจะมาเปลี่ยนแปลงผลแห่งความถูกต้องเหล่านั้นได้ อริยมรรค เป็นเรื่องของความถูกต้องที่ครอบคลุมพฤติกรรมของมนุษย์ไว้อย่างครบถ้วน

ไตรสิกขา


ไตรสิกขา คือการศึกษา 3 อย่าง ประกอบด้วยศีลสิกขา สมาธิสิกขา และปัญญาสิกขา การสรุปอริยมรรคลงในไตรสิกขา ก็จะเป็นภาพของหลักการของการศึกษา ที่ควรจะต้องสอดแทรกเข้าไปในทุกสาขาวิชา


ไตรสิกขา และอริยมรรค มีกระบวนการศึกษาดังนี้
หลักสัมมาทิฏฐิ

สัมมาทิฏฐิ คือปัญญาขั้นสูงที่เกิดจาก การสั่งสอนอบรมในด้านจิตใจ จนเห็นสัจจะทั้งปวงว่าอะไรควรข้องแวะ อะไรควรละอย่างชัดเจน การจัดการศึกษาจนได้ปัญญาประเภทสัมมาทิฏฐิคือการวางรากฐานความถูกต้องให้แก่วิชาการทั้งปวง ความรู้ใด ๆ ก็ตามที่ตั้งอยู่บนสัมมาทิฏฐิ ล้วนเป็นความรู้ที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ใคร ๆ แต่จะสร้างสรรค์ประโยชน์ฝ่ายเดียวพื้นฐานสำคัญของการเรียนการสอนวิชาต่าง ๆ ต้องมีสัมมาทิฏฐิเป็นแกนกลาง พระพุทธองค์ก็ได้ชี้ชัดว่าการเกิดสัมมาทิฏฐิมาจากเหตุสองอย่าง คือ

1. ปรโตโฆสะ คือปัจจัยกระตุ้นการเรียนรู้จากภายนอก เช่น การแนะนำ การถ่ายทอด การโฆษณา คำบอกเล่า ตลอดจนการเลียนแบบจากพ่อ แม่ ครู เพื่อน เป็นต้น

2. โยนิโสมนสิการ คือปัจจัยกระตุ้นการเรียนรู้จากภายใน หมายถึงการคิดอย่างแยบคาย หรือความรู้จักคิด คิดอย่างมีระบบ คิดอย่างมีกระบวนการ คิดรอบด้าน หรือคิดตามแนวทางปัญญา คือ รู้จักมองรู้จักพิจารณาสิ่งทั้งหลายตามสภาวะตามความเป็นจริง

ดังที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า พระพุทธศาสนาถือว่าเป็นศาสตร์แห่งการศึกษา เป็นแนวทางจัดการศึกษาที่มุ่งพัฒนาบุคคลให้มีความ
เจริญในทุก ๆ ด้าน ตามหลักของภาวนา 4 คือ ความเจริญทางด้านร่างกาย (กายภาวนา) ความเจริญด้านความประพฤติที่ดี (สีลภาวนา)
ความเจริญด้านจิตใจ (จิตตภาวนา) และความเจริญงอกงามด้านปัญญา (ปัญญาภาวนา) หากนำเอาหลักการทางพระพุทธศาสนาไป
ใช้เป็นพื้นฐานในการจัดการศึกษาเชื่อว่าสามารถพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ ตามหลักการจัดการศึกษาตามหลักของพระราช
บัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542


๑.๒ พระพุทธศาสนาเน้นความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยและวิธีการแก้ปัญหา
พระพุทธศาสนาเน้นความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัย

หลักของเหตุปัจจัย หรือหลักความเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งเป็นหลักของเหตุปัจจัยที่อิงอาศัยซึ่งกันและกัน ที่เรียกว่า "กฎปฏิจจสมุปบาท" ซึ่งมีสาระโดยย่อดังนี้
"เมื่ออันนี้มี อันนี้จึงมี เมื่ออันนี้ไม่มี อันนี้ก็ไม่มี เพราะอันนี้เกิด อันนี้จึงเกิด เพราะอันนี้ดับ อันนี้จึงดับ"นี่เป็นหลักความจริงพื้นฐาน ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาลอย ๆ ไม่ได้ หรือในชีวิตประจำวันของเรา "ปัญหา"ที่เกิดขึ้นกับตัวเราจะเป็นปัญหาลอย ๆ ไม่ได้ จะต้องมีเหตุปัจจัยหลายเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมา หากเราต้องการแก้ไขปัญหาก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยในการแก้ไขหลายเหตุปัจจัย ไม่ใช่มีเพียงปัจจัยเดียวหรือมีเพียงหนทางเดียวในการแก้ไขปัญหา เป็นต้น

คำว่า "เหตุปัจจัย" พุทธศาสนาถือว่า สิ่งที่ทำให้ผลเกิดขึ้นไม่ใช่เหตุอย่างเดียว ต้องมีปัจจัยต่าง ๆ ด้วยเมื่อมีปัจจัยหลายปัจจัยผลก็เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น เราปลูกมะม่วง ต้นมะม่วงงอกงามขึ้นมาต้นมะม่วงถือว่าเป็นผลที่เกิดขึ้น ดังนั้นต้นมะม่วงจะเกิดขึ้นเป็นต้นที่สมบูรณ์ได้ต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายปัจจัยที่ก่อให้เกิดเป็นต้นมะม่วงได้ เหตุปัจจัยเหล่านั้นได้แก่ เมล็ดมะม่วง ดิน น้ำ ออกซิเจน แสงแดด อุณหภูมิที่พอเหมาะ ปุ๋ย เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้พรั่งพร้อมจึงก่อให้เกิดต้นมะม่วง ตัวอย่างความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัย เช่น ปัญหาการมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการเรียนของนักเรียน มี
เหตุปัจจัยหลายเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเรียนอ่อน เช่น ปัจจัยจากครูผู้สอน ปัจจัยจากหลักสูตรปัจจัยจากกระบวนการเรียนการสอนปัจจัยจากการวัดผลประเมินผล ปัจจัยจากตัวของนักเรียนเอง เป็นต้น

ความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัย หรือหลักปฏิจจสมุปบาท แสดงให้เห็นอาการของสิ่งทั้งหลายสัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นเหตุปัจจัยต่อ
กันอย่างเป็นกระแส ในภาวะที่เป็นกระแสนี้ ขยายความหมายออกไปให้เห็นแง่ต่าง ๆ ได้คือ

- สิ่งทั้งหลายมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องอาศัยเป็นปัจจัยแก่กัน
- สิ่งทั้งหลายมีอยู่โดยความสัมพันธ์กัน
- สิ่งทั้งหลายมีอยู่ด้วยอาศัยปัจจัย
- สิ่งทั้งหลายไม่มีความคงที่อยู่อย่างเดิมแม้แต่ขณะเดียว (มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่อยู่นิ่ง)
- สิ่งทั้งหลายไม่มีอยู่โดยตัวของมันเอง คือ ไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมัน
- สิ่งทั้งหลายไม่มีมูลการณ์ หรือต้นกำเนิดเดิมสุด แต่มีความสัมพันธ์แบบวัฏจักร หมุนวนจนไม่ทราบว่าอะไรเป็นต้นกำเนิดที่แท้จริง


พุทธศาสนากับวิธีการแก้ปัญหา

พระพุทธศาสนาเน้นการแก้ปัญหาด้วยการกระทำของมนุษย์ตามหลักของเหตุผล ไม่หวังการอ้อนวอนจากปัจจัยภายนอก เช่น
เทพเจ้า รุกขเทวดา ภูตผีปีศาจ เป็นต้น จะเห็นได้จากตัวอย่างคำสอนในคาถาธรรมบท แปลความว่า
"มนุษย์ทั้งหลายถูกภัยคุกคามแล้ว พากันถึงเจ้าป่าเจ้าเขา เจ้าภูผา ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่พึ่งแต่สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่สรณะอันเกษม
เมื่อยึดเอาสิ่งเหล่านั้นเป็นสรณะ (ที่พึ่ง) ย่อมไม่สามารถหลุดพันจากความทุกข์ทั้งปวง…แต่ชนเหล่าใดมาถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม
พระสงฆ์ เป็นสรณะ รู้เข้าใจอริยสัจ 4 เห็นปัญหา เหตุเกิดของปัญหา ภาวะไร้ปัญหา และวิธีปฏิบัติให้ถึงความสิ้นปัญหาจึงจะสามารถ
หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้" ดังนั้นมนุษย์ต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีการของมนุษย์ที่เพียรทำการด้วยปัญญาที่รู้เหตุปัจจัย หลักการแก้ปัญหาด้วยปัญญาของมนุษย์คือ

1. ทุกข์ คือ การเกิดปัญหา หรือรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น หรือรู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร
2. สมุทัย คือ การสืบหาสาเหตุของปัญหา
3. นิโรธ คือ กำหนดแนวทางหรือวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เหล่านั้น
4. มรรค คือ ปฏิบัติตามวิธีการให้ถึงการแก้ไขปัญหา หรือวิธีการดับปัญหาได้
หลักการแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจ 4 นี้ มีคุณค่าเด่นที่สำคัญพอสรุปได้ดังนี้

1. เป็นวิธีการแห่งปัญญา ซึ่งดำเนินการแก้ไขปัญหาตามระบบแห่งเหตุผล เป็นระบบวิธีแบบอย่าง ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาใด ๆ ก็
ตาม ที่จะมีคุณค่าและสมเหตุผล จะต้องดำเนินไปในแนวเดียวกันเช่นนี้

2. เป็นการแก้ปัญหาและจัดการกับชีวิตของตน ด้วยปัญญาของมนุษย์เอง โดยนำเอาหลักความจริงที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ไม่ต้องอ้างอำนาจดลบันดาลของตัวการพิเศษเหนือธรรมชาติ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ

3. เป็นความจริงที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคนทุกคน ไม่ว่ามนุษย์จะเตลิดออกไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งที่อยู่ห่างไกลตัวกว้างขวางมากมายเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าเขายังจะต้องมีชีวิตของตนเองที่มีคุณค่าและสัมพันธ์กับสิ่งภายนอกเหล่านั้นอย่างมีผลดีแล้ว เขาจะต้อง
เกี่ยวข้องและใช้ประโยชน์จากหลักความจริงนี้ตลอดไป
4. เป็นหลักความจริงกลาง ๆ ที่ติดเนื่องอยู่กับชีวิต หรือเป็นเรื่องของชีวิตเองแท้ ๆ ไม่ว่ามนุษย์จะสร้างสรรค์ศิลปวิทยาการ หรือดำเนินกิจการใด ๆ ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาความเป็นอยู่ของตน และไม่ว่าศิลป-วิทยาการ หรือกิจการต่าง ๆ นั้น จะเจริญขึ้น
เสื่อมลง สูญสลายไป หรือเกิดมีใหม่มาแทนอย่างไรก็ตาม หลักความจริงนี้ก็จะคงยืนยงใหม่ และใช้เป็นประโยชน์ได้ตลอดทุกเวลา

๑.๓ พระพุทธศาสนาฝึกตนไม่ให้ประมาท
ความประมาท ได้แก่ การดำเนินชีวิตโดยมีสติ คือ ระลึกได้ว่า ชีวิตของเราเกิดมาได้อย่างไร จะดำรงชีวิตอยู่อย่างไรจึงจะมีความสุขความเจริญ และตายไปแล้วจะเป็นอย่างไรจึงจะดีที่สุดสำหรับตัวเอง เมื่อมีสติประจำตัวอยู่เสมอ ทำให้เกิดสัมปชัญญะ คือ รู้สภาพของตัวเองได้ดีได้ถูกต้องขึ้นว่า เราไม่ใช่ผู้อยู่เหนือธรรมชาติ เราสามารถ เจ็บ ตาย ได้ทุกขณะทุกเวลา อะไร เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ต้องรีบทำความดี เช่น การรักษาศีล การละเว้นความชั่ว การทำจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ การทำให้ตัวเองมีปัญญามีความรอบรู้ในสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เพื่อจะได้นำมาใช้ในการดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง เป็นประโยชน์ที่สุดแก่ชีวิตทั้งในชาตินี้และชาติหน้า เพื่อจะได้ไม่เป็นเหยื่อของคนชั่วและเป็นทาสของความชั่วร้าย ทำให้เราไม่ขาดสติสัมปชัญญะไม่มัวเมาในชีวิต ไม่หลงทางในการดำเนินชีวิต ไม่เป็นชีวิตที่ไร้ประโยชน์ไร้คุณค่า มีจุดหมายของชีวิต ทั้งในชาตินี้ชาติหน้า นอกจากนี้แล้ว ความไม่ประมาทยังหมายถึงการกระทำโดยความเคารพ การทำอะไรถูกต้องและต้องทำให้ต่อเนื่อง ให้สม่ำเสมอ ไม่ให้ย่อหย่อน ไม่ทอดธุระมีความพอใจ มีจิตใจที่ตั้งมั่นแน่วแน่และการประกอบเนื่อง ๆ กระทำให้มากในเรื่องบุญกุศล
ประโยชน์ของความไม่ประมาท
ความไม่ประมาท เป็นเหตุให้มนุษย์เกิดปัญญา เกิดความรู้ เกิดความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต และความปลอดภัยในชีวิต เกิดการ
สร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้แก่มนุษย์ ความไม่ประมาทมีประโยชน์ ดังนี้คือ

๑. ทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดให้มีขึ้นในตัวเอง
๒. ทำกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ให้เสื่อม มีแต่จะให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป
๓. ทำให้ตัวเองมีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตและการงาน
๔. ทำให้ตัวเอง คนในครอบครัว และคนในสังคมมีความสงบสุขร่วมกัน
๕. เป็นวิธีการป้องกันความเสื่อม และความเดือดร้อนไม่ให้เกิดขึ้นแก่ตนเองและผู้อื่น
๖. ทำให้มนุษย์และโลกดำรงอยู่ได้อย่างมีสันติสุขตลอดไป
๗. ทำให้เป็นต้นเหตุให้บรรลุจุดหมายอันสูงสุดของชีวิต ในระดับโลกิยะ (ปุถุชน) คือความสุขสงบในชีวิต ในระดับโลกุตระ คือ นิพพานความไม่ประมาทคือความมีสติ ความไม่เผอเรอ ความไม่หลงลืม ความไม่ปล่อยจิตไปในกายทุจริต วจีทุจริตมโนทุจริต หรือในกามคุณ ๕ และควรทำความไม่ประมาทในที่ ๔ สถานคือ

๑. ในการละกายทุจริต ประพฤติกายสุจริต
๒. ในการละวจีทุจริต ประพฤติวจีสุจริต
๓. ในการละมโนทุจริต ประพฤติมโนสุจริต
๔. ในการละความเห็นผิด ทำความเห็นให้ถูกอีกอย่างหนึ่งก็คือ

๑. ระวังใจไม่ให้กำหนัดในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
๒. ระวังใจไม่ให้ขัดเคืองในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง
๓. ระวังใจไม่ให้หลงในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความหลง
๔. ระวังใจไม่ให้มัวเมาในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา

ไม่ประมาทในวัยคือ

1. ปฐมวัย ตั้งแต่อายุ 1-25 ปี เป็นวัยที่ต้องใช้เวลาในการศึกษาเล่าเรียนหาวิชาความรู้ นอกจากนั้นจะต้องช่วยพ่อแม่ทำการ
งานประกอบอาชีพและบำเพ็ญกุศลตามโอกาสอันควร

2. มัชฌิมวัย ตั้งแต่อายุ 26-50 ปี เป็นวัยที่จะต้องประกอบอาชีพ เพื่อเลี้ยงครอบครัวและตนเองให้อยู่เย็นเป็นสุข จะต้องศึกษา
หาความรู้และประสบการณ์เพิ่มเติม และจะต้องบำเพ็ญกุศลตามโอกาสอันควรอีกด้วย
3. ปัจฉิมวัย ตั้งแต่อายุ 51 ปีขึ้นไป วัยนี้สังขารเริ่มทรุดโทรม เพราะกรากกรำทำงานมานาน สมควรจะพักผ่อนตามสมควรทำบุญกุศลไว้ และจะต้องออกกำลังกายตามควรแก่วัย บุคคลผู้ปฏิบัติตนตามวัยทั้ง 3 นี้ได้จัดว่าเป็นผู้ไม่ประมาท มนุษย์ผู้ไม่ประมาทในวัย ย่อมประสบกับสมบัติ 3 อย่างหรือ มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ

มนุษย์สมบัติจะต้องไม่ประมาทในธรรม 4 ประการคือ

1. ถึงพร้อมด้วยความหมั่น (อุฏฐานสัมปทา) ถึงพร้อมด้วยความหมั่น ในการประกอบกิจการงานเพื่อเลี้ยงชีพในการศึกษาเล่า
เรียน และในการทำธุระหน้าที่ของตน

2. ถึงพร้อมด้วยการรักษา (อารักขสัมปทา) คือ รักษาทรัพย์ที่แสวงหามาได้ด้วยความหมั่นเพียง ไม่ให้เป็นอันตรายรักษาการงานของคนไม่ให้เสื่อมเสีย เป็นต้น

3. มีเพื่อนเป็นคนดี (กัลยาณมิตตตา) ไม่คบคนชั่วเป็นมิตร

4. เลี้ยงชีวิตตามสมควร (สมชีวิตา) คือเลี้ยงชีวิตตามกำลังทรัพย์ที่หาได้หรือตามกำลังกายของตนที่มีอยู่ไม่ให้ฝึดเคืองหรือฟุ่มเฟือยมากนัก
สวรรค์สมบัติ ต้องไม่ประมาทในธรรม 4 ประการคือ

1. ถึงพร้อมด้วยศรัทธา (สัทธาสัมปทา) คือ เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ
2. ถึงพร้อมด้วยศีล (ศีลสัมปทา) คือ ประพฤติดีทั้งทางกาย วาจา และใจ
3. ถึงพร้อมด้วยการบริจาคทาน (จาคสัมปทา) คือ เป็นการให้ปันสิ่งของ บริจาคทรัพย์ และให้ความรู้เป็นทาน
4. ถึงพร้อมด้วยปัญญา (ปัญญาสัมปทา) คือ รู้จักบาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น

นิพพานสมบัติ สมบัติคือพระนิพพาน หมายถึง การพบกับความสุขสูงสุด เรียกว่า บรมสุข ด้วยการประกอบตามหลักของ ไตร
สิกขา บุญกิริยาวัตถุ 3 (การทำบุญให้ทาน การทำบุญด้วยการรักษาศีล และการทำบุญด้วยการเจริญภาวนา) และมรรคมีองค์ 8

โทษของความประมาท

ตามหลักของพระพุทธศาสนากล่าวว่า ผู้ประมาทจะก่อให้เกิดโทษทั้งในภพนี้และภพหน้า ดังนี้

1. โทษในภพนี้ มี 5 ประการ คือ ทำให้เสียทรัพย์ ทำให้เสียอวัยวะ ทำให้เสียชีวิต ทำให้เสียเวลา และทำให้ถูกจองจำทำโทษ
2. โทษในภพหน้า คืออบายภูมิ 4 ได้แก่ ตกนรก กำเนิดเป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต และ เป็นอสุรกาย
หลักของความไม่ประมาทตามแนวทางพระพุทธศาสนาจะสามารถสร้างมนุษย์ให้สมบูรณ์ได้ ทำประการใดก็ประสบความสำเร็จ
มีความเจริญก้าวหน้า และดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความสุข


๑.๔ พระพุทธศาสนามุ่งประโยชน์สุขและสันติภาพแก่บุคคล สังคม และโลก
พระพุทธศาสนามุ่งประโยชน์สุขและสันติภาพแก่บุคคล สังคม และโลก

พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานอารยธรรมที่สำคัญของโลกดังได้กล่าวมาแล้ว พระพุทธศาสนายังมุ่งประโยชน์สุข และสันติภาพ
ให้แก่บุคคล สังคม และชาวโลกได้ หากศึกษาในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนามีทั้งการสร้างสรรค์อารยธรรมและสันติภาพแก่มวลมนุษย์
นั่นคือ พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในประเทศอินเดียหรือชมพูทวีป พระพุทธศาสนาได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอินเดีย กล่าวคือ
สังคมอินเดียเคยนับถือพระพรหมเป็นเทพเจ้าสูงสุด ผู้สร้างผู้บันดาลทุกสิ่ง มีการบูชายัญเทพเจ้า แล้วก็มีการกำหนดมนุษย์
เป็นวรรณะต่าง ๆ โดยชาติกำเนิด เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร แล้วก็ถือว่าพราหมณ์เป็นผู้ที่ติดต่อสื่อสารกับเทพเจ้า
กับพระพรหม เป็นผู้รู้ความต้องการของพระองค์ เป็นผู้รับเอาคำสอนมารักษา มีการผูกขาดการศึกษาให้อยู่ในวรรณะสูง คนวรรณะต่ำ
เรียนไม่ได้ เป็นต้น

เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเหล่านี้อย่างมากมาย เช่น เรื่อง วรรณะ 4 พระพุทธศาสนาไม่
ยอมรับ แต่ให้ถือหลักว่า “คนมิใช่ประเสริฐหรือต่ำทรามเพราะชาติกำเนิด แต่จะประเสริฐหรือต่ำทรามเพราะการกระทำ” แล้ว
ก็ไม่ให้มัวหวังผลจากการอ้อนวอนบูชายัญ สอนให้เปลี่ยนการบูชายัญหรือเลิกการบูชายัญ ให้หันมาหวังผลจากการกระทำ นี่คือการ
“ประกาศอิสรภาพของมนุษย์”

เมื่อถือว่ามนุษย์จะดีจะประเสริฐอยู่ในการกระทำ มนุษย์ต้องพัฒนาชีวิตของตน ทั้งพัฒนาพฤติกรรม (ศีล) พัฒนาจิตใจ (สมาธิ)
และพัฒนาปัญญา (ปัญญา) ขึ้นไปมนุษย์จึงประเสริฐได้ ดีงามได้ ด้วยการฝึกฝนพัฒนาตน ด้วยการศึกษาเรียนรู้ เพราะฉะนั้นจึงต้อง
เสริมปัญญา มนุษย์ทุกคนจะต้องได้รับการศึกษา เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงทำให้เกิดการศึกษาแบบที่เรียกว่า “การศึกษามวลชน”

ในประเทศอินเดียเราสามารถพูดได้ว่า การศึกษาหลายเป็นการศึกษามวลชนได้เพราะการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา ก็แสดง
ว่าพระพุทธศาสนามีความสำคัญต่ออารยธรรมของโลก เพราะว่าเมื่ออินเดียเจริญขึ้นแล้ว อินเดียก็เป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของอารยธรรม
ของโลก

ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ได้นำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาใช้ มีการริเริ่มใหม่ คือการถือหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
โดยความสามัคคีระหว่างศาสนาต่าง ๆ นั่นคือพระเจ้าอโศกมหาราชได้ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา ทั้ง ๆ ที่พระองค์เป็นราชาในแบบ
สมัยโบราณที่มีอำนาจเต็มที่ แต่เมื่อนับถือพระพุทธศาสนาก็ถือหลักเมตตา อุปถัมภ์บำรุงทุกศาสนา และให้ศาสนิกชนในศาสนาต่าง ๆ
อยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคีรักใคร่กลมเกลียวกัน ยอมรับหลักธรรมของกันและกัน ไม่ทะเลาะ ไม่ใช้กำลัง ไม่ใช้ความรุนแรง

ในประเทศตะวันตกได้พยายามต่อสู้เพื่อสร้างหลักการแห่งเสรีภาพทางศาสนาขึ้นมาด้วยความยากลำบาก เพราะประเทศ
ตะวันตกนั้นเป็นดินแดนของการรบราฆ่าฟันทางศาสนา มีการข่มเหง เบียดเบียนเพราะนับถือศาสนาต่างกัน (persecution) และมีสงครามศาสนา (religious wars) มากมาย และพวกเขาได้พยายามดิ้นรนที่จะให้เกิดขันติธรรม(tolerance) ซึ่งต่างจากพระเจ้าอโศกมหาราชที่ใช้หลักการทางพระพุทธศาสนาก่อให้เกิดสันติภาพขึ้นมาในประเทศในสมัยนั้นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น